ประกันรถยนต์ไฟฟ้าฉบับใหม่ 2567 คุ้มครอง-ไม่คุ้มครองอะไรบ้าง?

ในยุคที่รถยนต์ไฟฟ้ากำลังได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีคำสั่งให้บริษัทประกันวินาศภัยเริ่มใช้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นประกันรถยนต์ไฟฟ้าฉบับใหม่ที่มีความคุ้มครองและเงื่อนไขที่แตกต่างไปจากเดิม เพื่อให้ผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างในประกันรถไฟฟ้าฉบับใหม่นี้ และความคุ้มครองแบตเตอรี่จะเหมือนเดิมหรือไม่ มาดูรายละเอียดกันเลย 

ประกันรถยนต์ไฟฟ้าฉบับใหม่คุ้มครองอะไรบ้าง?

ประกันรถไฟฟ้าจะยังคงคุ้มครองทุกภัยเหมือนรถยนต์ทั่วไป โดยสรุปง่ายๆ ก่อนเจาะลึกแต่ละประเด็นความคุ้มครอง ดังนี้ 

  • คุ้มครองแบตรถยนต์ไฟฟ้า โดยกำหนดค่าเสื่อมแบตเตอรี่ลดลงปีละ 10% แต่หากเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ สามารถขอเพิ่มความคุ้มครองได้ (ต่ำสุด 50% กรณีแบตเตอรี่อายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป) 
  • บังคับให้ระบุชื่อผู้ขับขี่สูงสุดได้ถึง 5 คน หากชื่อไม่ตรงกับในกรมธรรม์ จะต้องเสียค่าเสียหายส่วนแรก (Excess) สูงสุดไม่เกิน 6,000 บาท 
  • สำหรับการเพิ่มหรือลดค่าเบี้ยประกัน จะใช้ประวัติผู้ขับขี่ที่แย่ที่สุดเป็นตัวคำนวณเฉลี่ยอยู่ที่ 20-50% 
  • ไม่คุ้มครองความเสียหายจากปัจจัยภายนอก (Cyber Breach) ที่มีผลต่อระบบปฏิบัติการควบคุมการทำงานของรถ (Software) และคุ้มครองอื่นๆ ดังนี้ 
  • ไม่คุ้มครองความเสียหายจากการใช้เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลที่ไม่ได้มาจากผู้ผลิตรถ แต่สามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมได้ 

มีความคุ้มครองแบตรถดียังไง?

ประกันรถไฟฟ้าฉบับใหม่ยังได้เพิ่มความคุ้มครองแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาด้วย โดยจะคำนวณค่าเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน และกำหนดอัตราชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแบตเตอรี่ที่ชัดเจน ซึ่งผู้เอาประกันจะได้สิทธิในการเป็นเจ้าของแบตเตอรี่ที่เปลี่ยนใหม่ด้วย โดยกำหนดค่าเสื่อมแบตเตอรี่ลดลงปีละ 10% แต่หากเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ สามารถขอเพิ่มความคุ้มครองได้ (ต่ำสุด 50% กรณีแบตเตอรี่อายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป) โดยมีรายละเอียดความคุ้มครองดังนี้ 

  • อายุการใช้งานแบตเตอรี่ไม่เกิน 1 ปี คุ้มครอง 100% 
  • อายุการใช้งานแบตเตอรี่ไม่เกิน 2 ปี คุ้มครอง 90% 
  • อายุการใช้งานแบตเตอรี่ไม่เกิน 3 ปี คุ้มครอง 80% 
  • อายุการใช้งานแบตเตอรี่ไม่เกิน 4 ปี คุ้มครอง 70% 
  • อายุการใช้งานแบตเตอรี่ไม่เกิน 5 ปี คุ้มครอง 60% 
  • อายุการใช้งานแบตเตอรี่มากกว่า 5 ปีขึ้นไป คุ้มครอง 50% 

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาความคุ้มครองแบตเตอรี่และการกำหนดอายุการใช้งาน และเงื่อนไขต่างๆ รวมไปถึงกรรมสิทธิ์ของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า จะเป็นไปตามเงื่อนไขของบริษัทประกัน ดังนั้นจึงควรสอบถามข้อมูลต่างๆ ก่อนเพื่อความชัดเจนก่อนทำประกัน 

มีความคุ้มครองเครื่องชาร์จดียังไง?

นอกจากนี้ ประกันรถยนต์ไฟฟ้าฉบับใหม่ยังสามารถซื้อเพิ่มความคุ้มครองเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลแบบติดผนัง (Wall Charger) ที่อาจเกิดความเสียหายจากอุบัติเหตุหรือขณะชาร์จแบตเตอรี่ด้วย โดยจะอยู่ในสัดส่วนของเบี้ยประกันตั้งแต่ 0.035% – 3.5% ของมูลค่าเครื่องชาร์จ คุณสามารถสอบถามเงื่อนไขความคุ้มครองกับบริษัทประกันได้ก่อนซื้อเพื่อความชัดเจน รวมไปถึงรุ่นของเครื่องชาร์จที่ให้ความคุ้มครองด้วย 

ประกันรถยนต์ไฟฟ้าฉบับใหม่ไม่คุ้มครองอะไรบ้าง?

ประกันรถไฟฟ้าฉบับใหม่นี้ ยังไม่ได้ให้ความคุ้มครองในบางส่วน เช่น ความเสียหายจากปัจจัยภายนอก (Cyber Breach) ที่มีผลต่อระบบปฏิบัติการของรถยนต์ และความเสียหายของเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลที่ไม่ได้มาจากโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนั้นๆ 

ประกันรถยนต์ไฟฟ้า ราคาเท่าไหร่?

ราคาประกันรถยนต์ไฟฟ้าจะเริ่มต้นตั้งแต่ 5,190 บาทขึ้นไป (มีประกันหลายประเภท ทั้งประกันรถไฟฟ้าชั้น 1 2 และ 3) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความคุ้มครองและบริษัทประกันภัยที่เลือก ดังนั้นนอกจากเรื่องราคาเบี้ยประกันรถไฟฟ้า จึงควรอ่านความคุ้มครองให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ 

ข้อดีของประกันรถไฟฟ้าฉบับใหม่

ประกันรถไฟฟ้าช่วยเพิ่มความชัดเจนให้การทำประกันมีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการคิดเบี้ยประกัน และขอบเขตความคุ้มครอง โดยเฉพาะความคุ้มครองแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนหลักที่มีราคาสูง ที่สำคัญคือช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า และลดข้อพิพาทลงได้ แม้ราคาเบี้ยประกันจะยังสูงกว่ารถยนต์ทั่วไปในช่วงเดียวกัน แต่จะทยอยปรับตัวลดลงได้ในอนาคต 

ประกันรถยนต์ไฟฟ้าฉบับใหม่นี้ จะช่วยเพิ่มความชัดเจนและมาตรฐานในการทำประกัน โดยเฉพาะเรื่องความคุ้มครองแบตเตอรี่ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญและราคาสูง ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า และช่วยลดข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นได้ ถึงแม้ราคาเบี้ยประกันจะยังสูงกว่ารถยนต์ทั่วไป แต่จะค่อยๆ ปรับตัวลดลงตามที่อุตสาหกรรมเติบโตขึ้น 

แชร์บทความนี้