ไฟเครื่องยนต์โชว์ขึ้นมา หมายถึงอะไร? ขับรถต่อไปได้มั้ย?

ไฟสัญญาณรถยนต์ ทั้งไฟรูปเครื่องยนต์หรือไฟสัญลักษณ์อื่นๆ ที่ติดขึ้นบนแผงหน้าปัดของรถยนต์ เป็นสัญญาณเตือนให้ผู้ขับรถทราบว่ามีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นกับรถ แต่ความหมายเมื่อไฟเครื่องยนต์โชว์คืออะไร แม้ความหมายอาจจะซับซ้อนและกว้างขวางมากกว่าที่คิด แต่เราก็สรุปประเด็นสำคัญมาให้ ดังนี้

ไฟเครื่องยนต์ คืออะไร?

สัญลักษณ์ไฟต่างๆ ที่อยู่บนแผงหน้าปัดรถถูกออกแบบมาเพื่อเป็นตัวช่วยให้เจ้าของรถทราบถึงสภาพการทำงานของระบบต่างๆ ในรถ เช่น มีส่วนไหนทำงานผิดปกติ หรือมีปัญหาบางอย่าง โดยไฟเครื่องยนต์นั้นจะมีลักษณะเนรูปเครื่องยนต์ โชว์ขึ้นมาบนหน้าปัดรถ โดยมีความซับซ้อนมากกว่าสัญลักษณ์อื่นๆ และทำให้เจ้าของรถเข้าใจผิดได้ง่ายที่สุด

เมื่อไฟเครื่องยนต์โชว์ หมายความว่าอะไร?

โดยปกติเมื่อไฟเครื่องยนต์โชว์ขึ้น แสดงว่ามีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นกับระบบเครื่องยนต์ แต่การจะระบุว่าปัญหาอยู่ที่ตรงไหนนั้น ค่อนข้างยาก เพราะบางครั้งไฟเครื่องยนต์อาจจะสว่างขึ้น แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เครื่องยนต์โดยตรง

5 ปัญหาหลักที่ทำให้ไฟเครื่องยนต์โชว์

จากการรวบรวมสถิติโดย เว็บไซต์ CarMD พบว่า 5 ปัญหาหลักที่ทำให้ไฟเครื่องยนต์โชว์  ได้แก่

  1. แคทตาไลติกคอนเวอร์เตอร์ตัน หรือมีปัญหากับออกซิเจนเซ็นเซอร์
  2. หัวเทียนเสีย
  3. ปิดฝาถังน้ำมันไม่แน่น
  4. เซ็นเซอร์วัดมวลอากาศเสีย ทำให้กลิ่นไอเสียเหม็นกว่าปกติ
  5. คอยล์จุดระเบิดเสีย ทำให้รถสั่นและกระตุก

ขับรถต่อไปได้หรือไม่ เมื่อไฟเครื่องยนต์โชว์?

โดยส่วนใหญ่เมื่อไฟเครื่องยนต์โชว์ ผู้ขับรถยังสามารถขับต่อไปได้ แต่ควรขับด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรขับด้วยความเร็วสูง เพราะรถบางรุ่นอาจจะตัดเข้าสู่โหมดสำรอง และจำกัดความเร็วเอาไว้ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ขับสามารถขับรถเข้าข้างทางที่ปลอดภัย หรือเข้าอู่เพื่อตรวจเช็คต่อไป

5 วิธีดูแลเครื่องยนต์ ยืดอายุการใช้งาน ให้รถคู่ใจอยู่กับคุณไปนานๆ

นอกจากกระระมัดระวังเมื่อไฟเครื่องยนต์โชว์แล้ว การดูแลเครื่องยนต์ก็สำคัญ โดยมีวิธีดูแล ดังนี้

  1. เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะ น้ำมันเครื่องเปรียบเสมือนเลือดหล่อเลี้ยงเครื่องยนต์ ควรเปลี่ยนถ่ายตามระยะที่คู่มือรถกำหนด หรือทุก 5,000 – 10,000 กิโลเมตร
  2. ตรวจเช็คของเหลวต่างๆ เช่น น้ำมันเบรค น้ำหม้อน้ำ น้ำกลั่นแบตเตอรี่ ควรเติมหรือเปลี่ยนถ่ายตามระยะที่กำหนด
  3. ตรวจเช็คไส้กรองอากาศ ควรเปลี่ยนไส้กรองอากาศทุก 10,000 – 20,000 กิโลเมตร
  4. ตรวจเช็คหัวเทียน ควรเปลี่ยนหัวเทียนทุก 20,000 – 40,000 กิโลเมตร
  5. ตรวจเช็คสายพานต่างๆ เช่น สายพานไทม์มิ่ง สายพานแอร์ ควรเปลี่ยนตามระยะที่กำหนด

เมื่อไฟเครื่องยนต์โชว์ขึ้นมา มีความหมายที่ค่อนข้างกว้างและซับซ้อน แต่หากผู้ขับรถมีความรู้พอสมควร ก็สามารถสังเกตอาการอื่นๆ เบื้องต้นประกอบได้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยเมื่อเจอสถานการณ์จริง อย่างไรก็ตาม หากไม่แน่ใจ ควรเข้าอู่ให้ช่างตรวจเช็คด้วยเครื่องมือเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง นอกจากนี้การดูแลเครื่องยนต์ตามวิธีดูแลเครื่องยนต์ รวมถึงการทำประกันรถยนต์ติดไว้ก็จะช่วยดูแลคุณได้ในยามฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ หรือรถเสียกลางทาง

แชร์บทความนี้