คำถามนี้เป็นหนึ่งในคำถามที่พบบ่อยที่สุดในกระทู้การซ่อมรถ มีสาเหตุหลายประการที่อาจทำให้เกิดปัญหานี้
แอร์รถไม่เย็นเป็นเพราะอะไร ควรสังเกตอย่างไร
แน่นอนว่าเมื่อแอร์รถไม่เย็น ผู้ขับขี่ควรสังเกตลักษณะอาการที่ผิดปกติที่เกิดนั้นว่าเป็นอย่างไร เช่น แอร์รถไม่เย็นมีแต่ลม ไม่มีลมออกเลย แอร์รถยนต์เย็นบ้างไม่เย็นบ้าง แอร์รถไม่เย็นต้องปิดแล้วเปิดใหม่ถึงจะกลับมาเย็นเหมือนเดิม หรือแอร์เริ่มไม่เย็น เย็นน้อยลง และอาการต่าง ๆ อีกมากมาย
เมื่อผู้ขับขี่ทราบลักษณะอาการที่ชัดเจนแล้ว ก็พอที่จะสามารถตรวจสอบหาสาเหตุในเบื้องต้นได้ ว่าปัญหาดังกล่าวเกิดมาจากส่วนไหน
ตรวจสอบหาสาเหตุแอร์รถไม่เย็นเบื้องต้นด้วยตัวเองอย่างไร
- เช็กการทำงานของคอมเพรสเซอร์รถยนต์ โดยสังเกตการตัด-ต่อของคอมเพรสเซอร์ (ซึ่งรอบเครื่องยนต์จะถูกดึงเล็กน้อย) หรือลองเปิด-ปิดสวิตช์ A/C ของระบบปรับอากาศเพื่อจับอาการว่าคอมเพรสเซอร์แอร์ทำงานเป็นปกติหรือไม่
บางครั้งเราเองหรือคนนั่งหน้าอาจเผลอไปกดปุ่ม A/C ปุ่มนี้เอาไว้ใช้ควบคุมการทำงานของคอมเพรสเซอร์ โดยเลือกให้ทำงานหรือหยุดทำงานได้ เอาไว้เวลาที่เราต้องการใช้พัดลมเพียงอย่างเดียว หรือจะใช้ปิดช่วงก่อนถึงที่หมาย เพื่อให้ลมเป่าความชื้นออกจากแผงคอยล์เย็น ลดการเกิดเชื้อราที่แผงได้ โดยเฉพาะยิ่งในช่วงที่โควิดยังแพร่ระบาด เรายิ่งต้องดูแลแอร์รถยนต์ให้อากาศในรถปลอดภัยไกลไวรัส - ดูระดับน้ำยาแอร์ที่ดรายเออร์ (Receiver Drier) ซึ่งจะมีกระจกใสหรือที่นิยมเรียกกันว่าตาแมว จะมองเห็นการหมุนเวียนของน้ำยาแอร์ หากพบว่าเกิดฟองมาก (ปกติจะมีฟองเพียงเล็กน้อย) แสดงว่าน้ำยาแอร์ในระบบขาด อาจมีรอยรั่วในระบบ ทำให้น้ำยาแอร์พร่อง ดูดซับความร้อนในห้องโดยสารได้ไม่เต็มที่
ในการที่น้ำยาแอร์เหลือน้อยนั้น อาจเกิดได้หลายกรณี เช่น การใช้งานที่ยาวนาน ไม่ได้เติมน้ำยาแอร์ทำให้น้ำยาแอร์เหลือน้อย หรือเกิดจากการรั่วซึมของน้ำยาแอร์ในระบบ ซึ่งจะทำให้แอร์รถยนต์ไม่เย็นเลยหากน้ำยาแอร์รั่วออกจากระบบแอร์รถยนต์หมดแล้ว ควรรีบแก้ไขทันที อย่าฝืนเปิดแอร์รถยนต์เพราะอาจทำให้มีผลเสียมากขึ้น รีบไปร้านซ่อมแอร์รถยนต์ และให้ทางร้านเติมน้ำยาแอร์ และเช็คการรั่วซึมให้ด้วย
กรณีที่มีรอยรั่วตามจุดเชื่อมต่อต่าง ๆ ทำให้ค่าแรงดันของน้ำยาแอร์ตก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้แอร์รถยนต์ไม่เย็นได้เช่นกัน สามารถทำการตรวจสอบได้โดยใช้น้ำสบู่หรือผสมแชมพูตีให้เป็นฟอง แล้วนำไปทาตามรอยต่อต่าง ๆ ของระบบแอร์ ถ้ามีแรงดันให้ฟองสบู่ลอยตัวขึ้นมา แสดงว่ามีรอยรั่วซึมตามรอยต่อนั้น เมื่อตรวจพบให้ทำการขันให้แน่นแล้วทำการตรวจเช็กอีกรอบ ถ้าเกิดมีการรั่วซึมของน้ำยาแอร์ในห้องโดยสาร ต้องทำการซ่อมบำรุงในทันที เพราะเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่อีกด้วย - ตรวจสอบพัดลมระบายความร้อน ว่าเมื่อเปิดแอร์แล้วพัดลมแอร์ด้านหน้ารถ (สำหรับระบายความร้อนคอยล์ร้อนหรือ Condenser) ทำงานปกติหรือไม่ เพราะถ้าหากพัดลมแอร์ไม่ทำงานหรือทำงานไม่เต็มที่ (แรงลมอ่อน) จะระบายความร้อนไม่ได้หรือได้ไม่ดี ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้แอร์รถไม่เย็นได้
เช็กได้เองโดยเปิดฝากระโปรงด้านหน้า ติดเครื่องยนต์พร้อมเปิดแอร์ เมื่อมีการทำงานของคอมเพรสเซอร์รถยนต์ พัดลมหน้าแผงคอยล์ร้อนจะทำงานพร้อมกัน ถ้าพัดลมหน้าแผงคอยล์ร้อนไม่ทำงาน หรือหมุนช้ามีเสียงดัง แสดงว่าพัดลมด้านหน้าแผงคอยล์ร้อนเสีย เสื่อมสภาพแล้ว ต้องจัดการเปลี่ยนใหม่
แผงคอยล์ร้อนมีรูปร่างคล้ายหม้อน้ำ ติดตั้งอยู่ติดกับหม้อน้ำ และจะมีพัดลมระบายความร้อนติดอยู่ ซึ่งจะมีพัดลม 1 หรือ 2 ตัว ขึ้นอยู่กับชนิดของรถยนต์ โดยปกติหลังจากการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับระบบแอร์รถยนต์จะต้องทำความสะอาดคอนเดนเซอร์ เพื่อให้การระบายความร้อนของน้ำยาแอร์ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ระบบแอร์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จริง ๆ แล้วสาเหตุที่แอร์รถไม่เย็น ยังสามารถมีได้อีกหลายอย่าง เช่น ไดเออร์ตัน, วาล์วเสีย, สวิตช์ความเย็นเสีย, ฟิวส์คอมเพรสเซอร์ขาด เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่แล้ว จะมาจากที่กล่าวมาเบื้องต้นมากกว่า ดังนั้นให้ลองตรวจสอบสาเหตุโดยเบื้องต้นก่อน ถ้าสาเหตุมาจากอุปกรณ์เสีย ก็ต้องเข้าอู่หรือศูนย์บริการให้ตรวจสอบและแก้ไขให้นะครับ
สำหรับการแก้ไขปัญหาแอร์รถไม่เย็น หรือแอร์รถเย็นบ้างไม่เย็นบ้าง คงต้องขึ้นอยู่กับปัญหาที่พบ ในกรณีน้ำยาแอร์ขาดก็สามารถนำรถไปเติมน้ำยาแอร์เพื่อแก้ไขปัญหาเบื้องต้นก่อนได้ แต่โดยปกติแล้วกรณีน้ำยาแอร์ขาด มักมีการรั่วในระบบ และถ้ารอยรั่วไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อใช้ไปสักพักแอร์ก็อาจกลับมาไม่เย็นอีก ส่วนจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับรอยรั่วในระบบ แต่ถ้าคอมเพรสเซอร์แอร์เสื่อมสภาพ เสียหาย คงต้องซ่อมหรือเปลี่ยนใหม่ เช่นเดียวกับระบบระบายความร้อน
อย่างไรก็ตาม อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ใช้รถทุกคนก็คือการไม่ละเลย วิธีดูแลรักษาระบบแอร์รถยนต์ ใช้แอร์รถอย่างถูกต้อง เพื่อยืดอายุการใช้งานของระบบปรับอากาศภายในรถ จะได้ไม่ต้องทนร้อนเพราะแอร์รถยนต์เสียนั่นเอง