เมื่อสตาร์ทรถเตรียมออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนคือหน้าปัดรถยนต์ บทความนี้จะพาคุณรู้จักความหมายและความแตกต่างของมาตรวัดบนหน้าปัดรถ หน้าปัดรถยนต์ บอกอะไรบ้าง? ทั้งมาตรวัดความเร็วและมาตรวัดระยะทาง บอกความหมายสัญลักษณ์เตือนบนแผงหน้าปัดรถ
มาตรวัดความเร็ว คืออะไร?
มาตรวัดความเร็วของรถ เป็นอุปกรณ์ที่คอยแสดงความเร็วของรถ ณ ขณะนั้น ซึ่งจะแสดงผลออกมาในรูปแบบของไมล์หรือกิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจะช่วยให้คุณเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ แบบเรียลไทม์ เช่น ความเร็วในการเคลื่อนที่ และการสิ้นเปลืองน้ำมัน นอกจากนี้ยังมีมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ ซึ่งจะแสดงจำนวนรอบต่อนาทีด้วย เพื่อเตือนคุณไม่ให้ใช้รอบสูงเกินไป
มาตรวัดระยะทาง คืออะไร?
มาตรวัดระยะทางแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ ODO Meter และ TRIP Meter
- ODO Meter (เลขไมล์): บันทึกระยะทางการขับขี่ทั้งหมดตั้งแต่รถถูกผลิตขึ้นมา ไม่สามารถรีเซ็ตได้ด้วยตัวเอง แต่จะบอกถึงการใช้งานของรถว่าใช้มามากน้อยแค่ไหน ซึ่งมีประโยชน์ต่อการซื้อขายรถ
- TRIP Meter: วัดระยะทางการขับขี่ตั้งแต่จุดที่รีเซ็ตไปจนถึงจุดหมายปลายทาง จึงเหมาะสำหรับการคำนวณระยะทางในแต่ละครั้ง หรือวัดระยะทางการใช้งานในแต่ละวัน
ประโยชน์ของมาตรวัดความเร็วและระยะทาง
มาตรวัดความเร็วจะช่วยให้คุณทราบความเร็วขณะขับขี่ว่าเร็วเกินไปหรือไม่ ส่วนมาตรวัดระยะทางจะช่วยแจ้งเตือนให้คุณนำรถเข้าเช็คที่ศูนย์บริการได้ตามระยะ ดังนั้น การทำความเข้าใจมาตรวัดบนหน้าปัดรถยนต์จึงมีประโยชน์อย่างมากในการใช้รถอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
พารู้จักสัญญาณเตือนไฟแจ้งบนหน้าปัดรถยนต์
เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าหน้าปัดรถบอกอะไรบ้าง จึงพารู้จักสัญญาณเตือนต่างๆ โดยเมื่อสตาร์ทเครื่องยนต์ ไฟสัญญาณเตือนต่างๆ บนแผงหน้าปัดรถยนต์จะสว่างขึ้นเป็นการตรวจสอบระบบ แต่หากมีไฟสัญญาณเตือนใดยังคงติดค้างขณะขับขี่ ก็แสดงว่ามีปัญหาในระบบนั้นๆ ที่ต้องรีบตรวจสอบและแก้ไขโดยเร็ว มาดูกันว่าไฟสัญญาณเตือนแต่ละชนิดมีความหมายอย่างไร
- ไฟสัญญาณเตือนระบบเครื่องยนต์ทำงานผิดปกติ ไฟเตือนนี้จะสว่างขึ้นเมื่อมีปัญหาในระบบควบคุมไอเสียและเครื่องยนต์ แม้ว่ายังไม่รู้สึกถึงความผิดปกติในสมรรถนะของเครื่องยนต์ก็ตาม แต่อาจทำให้รถกินน้ำมันมากผิดปกติและเกิดมลพิษ ดังนั้นควรนำรถเข้าตรวจเช็คโดยเร็ว
- ไฟสัญญาณเตือนแรงดันน้ำมันเครื่องต่ำ ไฟเตือนนี้จะสว่างขึ้นเมื่อแรงดันน้ำมันเครื่องลดลง ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงกับชิ้นส่วนเครื่องยนต์ในไม่ช้า จึงควรดับเครื่องยนต์ทันทีและตรวจสอบระดับน้ำมันเครื่อง
- ไฟสัญญาณเตือนเบรกมือและระบบเบรก ไฟเตือนนี้มีหน้าที่แจ้งเตือนเมื่อเบรกมือถูกดึงค้าง และเตือนเมื่อระบบเบรกมีปัญหา ซึ่งอาจเกิดจากน้ำมันเบรกต่ำหรือผ้าเบรกสึกหรอ ควรตรวจสอบและแก้ไขทันที
- ไฟสัญญาณเตือนระบบถุงลมนิรภัย SRS ไฟเตือนนี้จะสว่างเป็นเวลาสั้นๆ เมื่อบิดสวิตช์กุญแจ แต่หากไฟติดค้างหรือกระพริบขณะขับขี่ แสดงว่ามีปัญหากับระบบถุงลมนิรภัยและเข็มขัดนิรภัย จึงควรนำรถเข้าตรวจสอบทันที
- ไฟสัญญาณเตือนระดับน้ำมันเชื้อเพลิงต่ำ ไฟเตือนนี้จะสว่างขึ้นเมื่อปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงเหลือน้อยกว่า 7-8 ลิตร บ่งชี้ว่าควรเติมน้ำมันโดยเร็ว
- ไฟสัญญาณเตือนระบบเบรกป้องกันล้อล็อค (ABS) ไฟเตือนนี้จะสว่างขึ้นเมื่อระบบ ABS มีปัญหา ถึงแม้ระบบเบรกปกติจะยังทำงานได้ แต่ระบบ ABS จะไม่ทำงาน จึงควรนำรถเข้าตรวจเช็ค
- ไฟสัญญาณเตือนพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า ไฟเตือนนี้จะสว่างขึ้นเมื่อระบบไฟฟ้าของพวงมาลัยเพาเวอร์มีปัญหา ทำให้การบังคับพวงมาลัยหนักขึ้น ควรนำรถเข้าตรวจเช็คทันที
- ไฟสัญญาณเตือนอุณหภูมิสูง ไฟเตือนนี้จะกระพริบเมื่ออุณหภูมิน้ำหล่อเย็นสูงขึ้น ควรลดความเร็วลงเพื่อป้องกันเครื่องยนต์ร้อนจัด แต่ถ้าไฟติดค้างต้องจอดตรวจสอบระบบน้ำหล่อเย็นทันที
และเมื่อเรารู้แล้วว่าหน้าปัดรถยนต์ บอกอะไรบ้าง ทั้งมาตรวัดความเร็วและระยะทาง รวมถึงไฟสัญญาณเตือนต่างๆ เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนรวมถึงเข้าใจรถยนต์ของเราหากมีสิ่งผิดปกติจะได้ซ่อมแซมหรือบำรุงรักษาได้ทันการณ์ก่อนที่จะสร้างความเสียหายต่อตัวรถหรือเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันขึ้น