ค่าเสียหายส่วนแรก Excess และ Deductible ต่างกันยังไง?

เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ คุณเจ้าของรถคงเคยสงสัยว่า ทำไมถึงต้องเสีย “ค่า Excess” ถึงแม้จะได้ทำประกันชั้น 1 ไปแล้วก็ตาม วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกับความแตกต่างระหว่าง “ค่า Excess” และ “ค่า Deductible” เพื่อให้คุณได้เลือกทำประกันที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด และจัดการเรื่องการเคลมประกันได้อย่างถูกต้อง ไปติดตามกันเลย

ค่าเสียหายส่วนแรก คืออะไร?

ค่าเสียหายส่วนแรกคือ เงินที่คุณต้องจ่ายก่อนเคลมเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชน เพื่อให้ผู้ขับขี่มีส่วนรับผิดชอบเพื่อให้ขับรถระมัดระวังมากขึ้น และเพื่อป้องกันการเคลมที่ไม่มีเหตุผลชัดเจนหรือการจงใจเคลม โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ค่าแอ็กเซส (Excess) และค่าดีดัก (Deductible) ซึ่งมีความแต่งต่างกันดังนี้

ค่า Excess คืออะไร?

ค่า Excess คือค่าเสียหายส่วนแรกที่ผู้เอาประกันต้องจ่ายเอง เมื่อเกิดอุบัติเหตุแบบไม่มีคู่กรณี เช่น หินกระเด็นใส่รถ เฉี่ยวชนกิ่งไม้ เป็นต้น โดยจะเรียกเก็บ 1,000-5,000 บาท ตามจำนวนครั้งที่เกิดขึ้น ซึ่งค่า Excess นี้ถูกกำหนดโดย คปภ. เพื่อให้ผู้ขับขี่ขับรถด้วยความระมัดระวังมากขึ้น

ค่า Deductible คืออะไร?

ค่า Deductible คือค่าเสียหายส่วนแรกที่ผู้เอาประกันเลือกที่จะจ่ายเอง เมื่อเกิดอุบัติเหตุแบบมีคู่กรณี และตนเองเป็นฝ่ายผิด ยิ่งเลือกจ่ายค่า Deductible สูง ก็จะช่วยให้ค่าเบี้ยประกันถูกลงด้วย โดยบริษัทประกันจะรับผิดชอบค่าส่วนเกินที่เหลือ

ค่า Deductible ควรเลือกจ่ายเท่าไหร่?

ถ้าผู้ทำประกันมั่นใจว่าขับรถดี ความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุน้อย ก็สามารถเลือกจ่ายค่า Deductible สูง เพื่อช่วยให้ค่าเบี้ยประกันถูกลงได้เยอะ แต่หากคุณเป็นมือใหม่ หรือยังไม่มั่นใจในการขับขี่ การเลือกไม่จ่ายค่า Deductible อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่อาจเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ความแตกต่างระหว่าง “ค่า Excess” และ “ค่า Deductible”

ค่า Excess และ ค่า Deductible เป็นค่าเสียหายส่วนแรกที่ต่างกัน Excess เป็นค่าที่ต้องจ่ายเมื่อไม่มีคู่กรณี ส่วน Deductible เป็นค่าที่เลือกจ่ายเองเพื่อลดค่าเบี้ยประกัน เข้าใจความแตกต่างนี้ช่วยให้การเคลมประกันรถยนต์ง่ายขึ้น

อุบัติเหตุแบบไหนไม่ต้องจ่ายค่า excess?

ผู้เอาประกันไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกในกรณีที่

  • รถชนกับยานพาหนะอื่นและสามารถแจ้งรายละเอียดคู่กรณีได้ (เงื่อนไขและรายละเอียดขึ้นอยู่กับกรมธรรม์)
  • รถชนทรัพย์สินที่ยึดแน่นกับพื้นดิน เสาไฟฟ้า กำแพง ฟุตบาธ เป็นต้น
  • รถชนคนหรือสัตว์
  • รถพลิกคว่ำ
  • รถชนกองดินหรือหน้าผา

แต่หากเป็นความเสียหายเฉพาะพื้นผิวสีรถ หรือไม่สามารถระบุสาเหตุได้ชัดเจน ผู้เอาประกันอาจต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรก ดังนั้น การแจ้งรายละเอียดเหตุการณ์ให้ชัดเจนจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของคุณได้

ในท้ายที่สุด การเลือกรูปแบบการทำประกันที่เหมาะสมกับตัวคุณเองเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะช่วยให้คุณได้รับความคุ้มครองสูงสุด และไม่เสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำประกันรถ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากบริษัทประกันภัยที่คุณสนใจได้เลย

แชร์บทความนี้