อีกหนึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยๆ คือ ขับรถชนสุนัขไม่ได้ตั้งใจ และเรื่องนี้เป็นประเด็นที่หลายๆ คนตั้งข้อสงสัยมากมายว่า ใครเป็นฝ่ายผิด เจ้าของรถหรือเจ้าของสุนัข แล้วขับรถชนสุนัข เคลมประกันได้ไหม? เรารวบรวม “คำตอบ” ทุกประเด็นมาให้แล้ว ไปทำความเข้าใจพร้อมๆ กันได้เลย
ถ้าขับรถชนสุนัขไม่ได้ตั้งใจใครกันที่เป็นฝ่ายผิด?
เมื่อเกิดอุบัติเหตุมีการสูญเสียหรือเสียหาย แน่นอนว่าต้องมีฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบเสมอ ในกรณีที่ขับรถตามทางอยู่ดีๆ แล้วสุนัขตัดหน้า จนเป็นเหตุทำให้รถชนเข้าอย่างจัง แบบนี้เจ้าของรถหรือเจ้าของรถเป็นฝ่ายผิด ตอบตรงนี้แบบอ้างอิงตามข้อกฎหมายได้ว่า “กรณีนี้เจ้าของรถไม่ผิด” โดยแบ่งความรับผิดชอบออกเป็น 2 ประเด็น ได้แก่
- สุนัขไม่มีเจ้าของ
กรณีนี้คุณต้องดูแลค่าซ่อม และค่าเสียหายทั้งหมดด้วยตนเอง - สุนัขมีเจ้าของ
กรณีนี้ “เจ้าของสุนัข” จะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดตามข้อกฎหมาย ยกเว้นว่าเจ้าของสุนัขสามารถพิสูจน์ได้ว่า ได้ระมัดระวัง ดูแล ป้องกันสุนัขของตัวเองเป็นอย่างดีแล้ว แต่ยังเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้น
Note: อ้างอิงจาก พรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 111 ระบุไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดขี่จูงไล่ตอนหรือปล่อยสัตว์ไปบนทาง ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรและไม่มีผู้ควบคุมเพียงพอ”
รถชนสุนัขแบบไหน ถึงเป็นฝ่ายผิด?
ต้องบอกก่อนว่าการขับรถชนสุนัข ใช่ว่า “เจ้าของรถ” จะไม่มีความผิดเสมอไป เพราะในแง่ของกฎหมายนั้น มี “กฎเกณฑ์” ที่ยิบย่อยมากๆ และแน่นอนว่าหาก “ชนสุนัขโดยเจตนา” ย่อมมีความผิดตามกฎหมายแน่นอน โดยข้อกฎหมายที่ว่าคือ “พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557”
กรณีที่มีหลักฐานชี้ชัดว่า “เจ้าของรถเข้าข่ายเจตนา” มีโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับ 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังมี “โทษปรับเพิ่มเติม” ฐานความผิด พรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 อีก 1,000 บาท เนื่องจากทำให้ “เจ้าของเสียทรัพย์” นั่นเอง แต่ในกรณีที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเจ้าของรถเจตนาต้องยอมรับว่าเป็น “เหตุสุดวิสัย”
รถชนสุนัขในพื้นที่ส่วนบุคคล ผิดมั้ย?
กรณีขับรถชนสุนัขในพื้นที่ส่วนบบุคคล เช่น บ้านเพื่อน บ้านผู้ใหญ่ หรือบริเวณบ้านพักอาศัยใดๆ “เจ้าของรถเป็นฝ่ายผิด” แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งใจหรือเจตนา โดยเจ้าของรถจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดแก่รถยนต์ด้วยตัวเอง และยังต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับเจ้าของสุนัขด้วยเช่นกัน เพราะตามกฎหมายชี้ว่า “เจ้าของสัตว์ได้ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุแก่สัตว์เลี้ยงแล้ว แต่เจ้าของรถ/ผู้ขับขี่ไม่ระวัง และขับรถเข้าพื้นที่ของสัตว์จนทำให้ได้รับบาดเจ็บ หรือเกิดความเสียหาย”
ทั้งหมดนี้คือรายละเอียดเกี่ยวกับการขับรถชนสุนัข ไม่ว่าจะตั้งใจ ไม่ตั้งใจ หรือชนในพื้นที่ส่วนบุคคล ล้วนมีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจเยอะมากๆ ดังนั้นถ้าจะให้ดี และเกิดปัญหาน้อยที่สุด ควรเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่กันสักนิด ขับรถให้ช้าลงหน่อย เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และถ้าหากสงสัยว่า “เคลมประกันรถยนต์ได้มั้ย” ไปทำความเข้าใจในหัวข้อต่อไปกันได้เลย
เมื่อสุนัขถูกรถชนค่ารักษาเท่าไหร่?
สำหรับค่ารักษาพยาบาลกรณีสุนัขโดนรถชน ไม่ว่าจะบาดเจ็บเล็กน้อยหรือหนักจนถึงขั้นต้องผ่าตัด ‘ค่ารักษาขึ้นอยู่กับแต่ละคลินิกและโรงพยาบาล’ หากเป็นการผ่าตัดราคาจะสูงถึงหลักหมื่น ต่อไปนี้คือลิสต์ค่าใช้จ่ายคร่าวๆ มาให้เรียบร้อยแล้ว โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- การผ่าตัดกระดูกสันหลังและระบบประสาท ประมาณ 25,000 บาท
- การผ่าตัดเพื่อใส่เหล็กขาหน้าและหลัง ประมาณ 33,900 บาท
- ค่าเอกซเรย์ เริ่มต้น 300-1,000 บาท/แผ่น
- ค่าอัลตราซาวด์ เริ่มต้น 400-3,500 บาท/ครั้ง
นอกจากนี้ยังมีค่ารักษาพยาบาลอื่นๆ หรือค่าบริการทางการแพทย์ ที่ต้องเตรียมเอาไว้ให้พร้อม กรณีที่งบค่อนข้างจำกัด “โรงพยาบาลสัตว์มหาลัย” จะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชน แนะนำให้สอบถามค่าใช้จ่ายก่อนเข้าใช้บริการจะดีที่สุด
ขับรถชนสุนัข เคลมประกันได้ไหม?
กรณีที่รถยนต์ของคุณทำ “ประกันภัยรถยนต์ ประเภท 1” เอาไว้ สามารถเคลมได้ทุกกรณี ไม่ว่าจะชนสุนัขแบบไม่ได้ตั้งใจ, มีเจ้าของหรือไม่มี รวมถึงชนสุนัขในพื้นที่ส่วนบุคคล กรณีที่ “ผู้เอาประกันเป็นฝ่ายถูก” บริษัทประกันจะดำเนินการเรียกค่าสินไหมทดแทน รถชนกับเจ้าของสุนัขเอง ต่างจากความคุ้มครองประกันรถยนต์ประเภทอื่นๆ ที่คุ้มครองเฉพาะค่าซ่อมรถ เมื่อชนกับรถด้วยกันเท่านั้น
หน้าที่ของคุณมีเพียงแค่ “โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ประกันทันทีที่เกิดอุบัติเหตุ” โดยแจ้งพื้นที่ที่เกิดเหตุ รวมถึงลักษณะการเกิดเหตุให้ชัดเจน จากนั้นรอจนกว่าเจ้าหน้าที่จะเดินทางมาถึง พร้อมกับเก็บหลักฐาน/ข้อมูลในที่เกิดเหตุ และออก “ใบเคลม” ให้คุณ ในการส่งรถจัดซ่อมต่อไป โดย “ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรก”
พรบ.รถยนต์ คุ้มครองด้วยมั้ยหากขับรถชนน้องหมา?
กรณีขับรถชนสุนัขไม่ว่าจะลักษณะใดๆ “พรบ.รถยนต์ไม่คุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้น” เพราะ พรบ.รถยนต์ ให้ความคุ้มครองเฉพาะ “การบาดเจ็บและการเสียชีวิต” เท่านั้น หรือพูดง่ายๆ ว่าชดเชยค่าเสียหายที่เกิดแก่ร่างกาย ชีวิต และอนามัยเบื้องต้น โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด ภายใต้วงเงินชดเชยค่ารักษาพยาบาล ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน หมายความว่าหากต้องการได้รับความคุ้มครองด้านนี้ “ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ” โดยเฉพาะประกันภัยรถยนต์ ประเภท 1 สามารถตอบโจทย์ได้มากกว่านั่นเอง
จะเห็นได้ว่า “ขับรถชนสุนัขไม่ได้ตั้งใจ” ประกันภัยรถยนต์ ประเภท 1 ให้ความคุ้มครองอย่างครอบคลุม ถ้าถามว่าขับรถชนสุนัข เคลมประกันได้ไหม? ก็ตอบได้เลยว่าสามารถแจ้งเคลมประกันรถยนต์ได้ตามปกติ และถ้าหากผู้เอาประกันเป็นฝ่ายถูก บริษัทจะทำหน้าที่เรียกร้องค่าเสียหาย โดยที่ผู้เอาประกันไม่ต้องดำเนินการด้วยตัวเอง แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ผู้ขับขี่ควรขับรถด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและเพื่อความปลอดภัย